วันอังคารที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

โวหารภาพพจน์ในวรรณคดีไทย

ความหมายของโวหารภาพพจน์

โวหาร คือ การใช้ถ้อยคำอย่างมีชั้นเชิง เป็นการแสดงข้อความออกมาในทำนองต่างๆ เพื่อให้ข้อความได้เนื้อความดี มีความหมายแจ่มแจ้ง เหมาะสมน่าฟัง ในการเขียนเรื่องราวอาจใช้โวหารต่างๆ กัน แล้วแต่ชนิดของข้อความ (สมถวิล วิเศษสมบัติ. ๒๕๔๔ : ๑๒๙)

โวหารภาพพจน์ คือ กลวิธีการนำเสนอสารโดยการพลิกแพลงภาษาที่ใช้พูด หรือเขียนให้แปลกออกไปจากภาษาตามตัวอักษรทำให้ผู้อ่านเกิดภาพในใจ เกิดความประทับใจ เกิดความรู้สึกสะเทือนใจ เป็นการเปรียบเทียบให้เห็นภาพอย่างชัดเจน (รัตนา ศรีมงคล. http://www.thaigoodview.com/library /teachershow/ratchaburi/ratana_sri/index.html)


อ่านต่อนะคะ
ประเภทของโวหารภาพพจน์

ประเภทของโวหารภาพพจน์นั้น ( สมถวิล วิเศษสมบัติ. ๒๕๔๔ : ๑๓๑ ; จันจิรา จิตตะวิริยะพงษ์. ๒๕๔๙ : ๔๗๔ ; ภิญโญ ทองเหลา. ๒๕๔๗ : ๑๕ ; รัตนา ศรีมงคล. http://www. thaigoodview.com/library /teachershow/ratchaburi/ratana_sri/index.html) ได้กล่าวสอดคล้องกันไว้ ดังนี้

๑. อุปมาโวหาร (Simile)

อุปมา คือ การเปรียบเทียบว่าสิ่งหนึ่งเหมือนกับสิ่งหนึ่งโดยใช้คำเชื่อมที่มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า “ เหมือน ” เช่น ดุจ ดั่ง ราว ราวกับ เปรียบ ประดุจ เฉก เล่ห์ ปาน ประหนึ่ง เพียง เพี้ยง พ่าง ปูน ถนัด ละหม้าย เสมอ กล อย่าง ฯลฯ

ตัวอย่างเช่น

ปัญญาประดุจดังอาวุธ

ไพเราะกังวานปานเสียงนกร้อง

ท่าทางหล่อนราวกับนางพญา

จมูกเหมือนลูกชมพู่ ใบหูเหมือนทอดมันร้อนๆ

ปากเธอเหมือนกระจับอ่อนๆ ฟันเรียงสลอนเหมือนข้าวโพดพันธุ์ดี

ตาเหมือนตามฤคมาศ พิศคิ้วพระลอราช

ประดุจแก้วเกาทัณฑ์ ก่งนา

สูงระหงทรงเพรียวเรียวลูด งามละม้ายคล้ายอูฐกะหลาป๋า

พิศแต่หัวจรดเท้าขาวแต่ตา สองแก้มกัลยาดังลูกยอ

คิ้วก่งดังก่งเขาดีดฝ้าย จมูกละม้ายคล้ายพร้าขอ

หูกลวงดวงพักตร์หักงอ ลำคอโตตันสั้นกลม

สองเต้าห้อยตุงดังถุงตะเคียว โคนเหี่ยวแห้งรวบเหมือนบวบต้ม

เสวยสลายาจุกพระโอษฐ์อม มันน่าเชยน่าชมนางเทวี

(ระเด่นลันได : พระมหามาตรี (ทรัพย์))


๒. อุปลักษณ์ ( Metaphor )

อุปลักษณ์ ก็คล้ายกับอุปมาโวหารคือเป็นการเปรียบเทียบเหมือนกัน แต่เป็นการเปรียบเทียบสิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่ง การเปรียบเทียบสิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่ง มักจะมีคำ เป็น คือ มี ๓ ลักษณะ

๑. ใช้คำกริยา เป็น คือ = เปรียบเป็น เช่น โทสะคือไฟ

๒. ใช้คำเปรียบเป็น เช่น ไฟโทสะ ดวงประทีปแห่งโลก ตกเหวรักจะดิ้นรนไปจนตาย

๓. แสดงการเปรียบเทียบโดยปริยาย เช่น มโหรีจากราวป่ามาเรื่อยรี่

อุปลักษณ์จะไม่กล่าวโดยตรงเหมือนอุปมา แต่ใช้วิธีกล่าวเป็นนัยให้เข้าใจเอาเอง ที่สำคัญอุปลักษณ์จะไม่มีคำเชื่อมเหมือนอุปมา

ตัวอย่างเช่น ขอเป็นเกือกทองรองบาทา ไปจนกว่าชีวันจะบรรลัย

ทหารเป็นรั้วของชาติ

เธอคือดอกฟ้าแต่ฉันนั้นคือหมาวัด

เธอเป็นดินหรือเธอเป็นหญ้าแท้จริงมีค่ากว่าใครนิรันดร์

ชาวนาเป็นกระดูกสันหลังของชาติ

ครูคือแม่พิม์ของชาติ

ชีวิตคือการต่อสู้ ศัตรูคือยากำลัง

๓. สัญลักษณ์ ( symbol )

สัญลักษณ์ เป็นการเรียกชื่อสิ่งๆหนึ่งโดยใช้คำอื่นมาแทน ไม่เรียกตรงๆ ส่วนใหญ่คำที่นำมาแทนจะเป็นคำที่เกิดจากการเปรียบเทียบและตีความ ซึ่งใช้กันมานานจนเป็นที่เข้าใจและรู้จักกันโดยทั่วไป ทั้งนี้อาจเป็นเพราะผู้ประพันธ์ต้องการเปรียบเทียบเพื่อสร้างภาพพจน์หรือมิฉะนั้นก็อาจจะอยู่ในภาวะที่กล่าวโดยตรงไม่ได้ เพราะไม่สมควรจึงต้องใช้สัญลักษณ์แทน

ตัวอย่างเช่น เมฆหมอก แทน อุปสรรค

สีดำ แทน ความตาย ความชั่วร้าย

สีขาว แทน ความบริสุทธิ์

กุหลาบแดง แทน ความรัก

หงส์ แทน คนชั้นสูง

กา แทน คนต่ำต้อย

ดอกไม้ แทน ผู้หญิง

แสงสว่าง แทน สติปัญญา

เพชร แทน ความแข็งแกร่ง ความเป็นเลิศ

แก้ว แทน ความดีงาม ของมีค่า

ลา แทน คนโง่ คนน่าสงสาร

ลา แทน คนพาล คนคด

สุนัขจิ้งจอก แทน คนเจ้าเล่ห์

ยักษ์ แทน อธรรม

อันของสูงแม้ปองต้องจิต ถ้าไม่คิดปีนป่ายจะได้หรือ

ไม่ใช่ของตลาดที่อาจซื้อ ฤๅแย่งยื้อถือได้โดยไม่ยอม

ไม่คิดสอยมัวคอยดอกไม้ร่วง คงชวดดวงบุปผชาติสะอาดหอม

ดูแต่ภุมรินเที่ยวบินตอม จึ่งได้ดอมดมกลิ่นสุมาลี

(ท้าวแสนปม : พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว)

๔. บุคลาธิษฐาน ( Personification )

บุคลาธิษฐาน หรือ บุคคลวัต บุคคลสมมติ คือการกล่าวถึงสิ่งต่างๆ ที่ไม่มีชีวิต ไม่มีความคิด ไม่มีวิญญาณ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ อิฐ ปูน หรือสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่มนุษย์ เช่น ต้นไม้ สัตว ์ โดยให้สิ่งต่างๆเหล่านี้ แสดงกิริยาอาการและความรู้สึกได้เหมือนมนุษย์ ให้มีคุณลักษณะต่างๆ เหมือนสิ่งมีชีวิต ( บุคลาธิษฐาน มาจากคำว่า บุคคล + อธิษฐานหมายถึง อธิษฐานให้กลายเป็นบุคคล )

ตัวอย่างเช่น มองซิ..มองทะเล เห็นลมคลื่นเห่จูบหิน

บางครั้งมันบ้าบิ่น กระแทกหินดังครืนครืน

ทะเลไม่เคยหลับไหล ใครตอบได้ไหมไฉนจึงตื่น

บางครั้งยังสะอื้น ทะเลมันตื่นอยู่ร่ำไป


ฟ้าหัวเราะเยาะข้าชะตาหรือ ดินนั้นถืออภิสิทธิ์ชีวิตข้าเองไม่เกรงดินฟ้า

ไส้เดือนเที่ยวเกี้ยวสาว ชาวอัปสรนอนชั้นฟ้า

ทุกจุลินทรีย์อะมีบา เชิดหน้าได้ดิบได้ดี

เสียงร้องไห้ร่ำหาเหมือนฟ้าร้อง พระเสื้อเมืองเมินมองแล้วร้องไห้

พระธรณีตีอกด้วยตกใจ โลกบาลถอนฤทัยไม่อาจมอง


๕. อธิพจน์ ( Hyperbole )

อติพจน์ หรือ อธิพจน์ คือโวหารที่กล่าวเกินความจริง เพื่อสร้างและเน้นความรู้สึกและอารมณ์ ทำให้ผู้ฟังเกิดความรู้สึกที่ลึกซึ้ง ภาพพจน์ชนิดนี้นิยมใช้กันมากแม้ในภาษาพูด เพราะเป็นการกล่าวที่ทำให้เห็นภาพได้ง่ายและแสดงความรู้สึกของกวีได้อย่างชัดเจน

ตัวอย่างเช่น คิดถึงใจจะขาด

คอแห้งเป็นผง

ร้อนตับจะแตก

หนาวกระดูกจะหลุด

การบินไทยรักคุณเท่าฟ้า

คิดถึงเธอทุกลมหายใจเข้าออก



เอียงอกเทออกอ้าง อวดองค์ อรเอย

เมรุชุบสมุทรดินลง เลขแต้ม

อากาศจักจารผจง จารึก พอฤา

โฉมแม่หยาดฟ้าแย้ม อยู่ร้อนฤาเห็น



*ในกรณีที่ใช้โวหารต่ำกว่าจริงเรียกว่า "อวพจน์"

ตัวอย่างเช่น เล็กเท่าขี้ตาแมว

เพียงชั่วลัดนิ้วมือเดียว

รอสักอึดใจเดียว

๖. สัทพจน์ ( Onematoboeia )

สัทพจน์ หมายถึง ภาพพจน์ที่เลียนเสียงธรรมชาติ เช่น เสียงดนตรี เสียงสัตว์ เสียงคลื่น เสียงลม เสียงฝนตก เสียงน้ำไหล ฯลฯ การใช้ภาพพจน์ประเภทนี้จะทำให้เหมือนได้ยินเสียงนั้นจริง ๆ

ตัวอย่างเช่น ลูกหมาร้องบ๊อก ๆ ๆ ลุกนกร้องจิ๊บๆๆ ลูกแมวร้องเหมียว ๆ ๆ

เปรี้ยง ๆ ดังเสียงฟ้าฟาด

ตะแลกแต๊กแต๊กตะแลกแต๊กแต๊ก กระเดื่องดังแทรกสำรวลสรวลสันต์

คลื่นซัดครืนครืนซ่าที่ผาแดง

น้ำพุพุ่งซ่า ไหลมาฉาดฉาน เห็นตระการ เสียงกังวาน

มันดังจอกโครม จอกโครม มันดังจอก จอก โครม โครม

บัดเดี๋ยวดังหง่างเหง่งวังเวงแว่ว

อ้อยอี๋เอียง อ้อยอี๋เอียงส่งเสียงร้อง

เสียงลิงค่างบ่างชะนีวะหวีดโหวย กระหึมโหยห้อยไม้น่าใจหาย

ป๊ะโท่นป๊ะโท่นป๊ะโท่นโท่น

๗. นามนัย ( Metonymy )

นามนัย คือ การใช้คำหรือวลีซึ่งบ่งลักษณะหรือคุณสมบัติของสิ่งใดสิ่งหนึ่งแทนอีกสิ่งหนึ่ง คล้ายๆ สัญลักษณ์ แต่ต่างกันตรงที่ นามนัยนั้นจะดึงเอาลักษณะบางส่วนของสิ่งหนึ่งมากล่าวให้หมายถึงส่วนทั้งหมด หรือใช้ชื่อส่วนประกอบสำคัญของสิ่งนั้นแทนสิ่งนั้นทั้งหมด

ตัวอย่างเช่น เมืองโอ่ง หมายถึง จังหวัดราชบุรี

เมืองย่าโม หมายถึง จังหวัดนครราชสีมา

ทีมเสือเหลือง หมายถึง ทีมมาเลเซีย

ทีมกังหันลม หมายถึง ทีมเนเธอร์แลนด์

ทีมสิงโตคำราม หมายถึง อังกฤษ

ฉัตร มงกุฎ หมายถึง กษัตริย์

เก้าอี้ หมายถึง ตำแหน่ง หน้าที่

มือที่สาม หมายถึง ผู้ก่อความเดือดร้อน

เอวบาง หมายถึง นาง ผู้หญิง

๘. ปรพากย์ ( Paradox )

ปฏิพากย์ หรือ ปรพากย์ คือการใช้ถ้อยคำที่มีความหมายตรงกันข้ามหรือขัดแย้งกันมากล่าว อย่างกลมกลืนกันเพื่อเพิ่มความหมายให้มีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น

ตัวอย่างเช่น เลวบริสุทธิ์

บาปบริสุทธิ์

สวยเป็นบ้า

สวยอย่างร้ายกาจ

สนุกฉิบหาย

สวรรค์บนดิน

ยิ่งรีบยิ่งช้า

น้ำร้อนปลาเป็น น้ำเย็นปลาตาย

เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย

รักยาวให้บั่น รักสั้นให้ต่อ

แพ้เป็นพระ ชนะเป็นมาร

ขอบคุณแหล่งข้อมูล : http://gene901.exteen.com/20071124/entry-2
โวหารการเขียน

มี ๕ โวหาร คือ บรรยายโวหาร พรรณนาโวหาร




1. บรรยายโวหาร คือ โวหารที่ใช้เล่าเรื่อง หรืออธิบายเรื่องราวต่าง ๆ ตามลำดับเหตุการณ์ การเขียนบรรยายโวหาร จะมุ่งความชัดเจน เขียน ตรงไปตรงมา รวบรัด กล่าวถึงแต่สาระสำคัญไม่จำเป็นต้องมีพลความ หรือความปลีกย่อยเสริม ในการเขียนทั่ว ๆ ไปมักใช้บรรยายโวหาร เพราะเหมาะในการติดต่อสื่อสารเนื่องจากสำนวนประเภทนี้มุ่งสาระเขียนอย่างสั้น ๆ ได้ความชัดเจนงานเขียนที่ควรใช้บรรยายโวหาร ได้แก่ การเขียนอธิบายประเภทต่าง ๆเช่น เขียนรายงานวิทยานิพนธ์ ตำรา บทความ การเขียนเพื่อเล่าเรื่อง เช่น บันทึก จดหมายเหตุ การเขียนเพื่อแสดงความคิดเห็นประเภทบทความเชิงวิจารณ์ ข่าว เป็นต้น




หลักการเขียนบรรยายโวหาร




1) เรื่องที่เขียนต้องเป็นเรื่องจริง ผู้เขียนควรมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องที่จะเขียนเป็นอย่างดี โดยอาจรู้มาจากประสบการณ์ หรือการค้นคว้าก็ได้




2) เลือกเขียนเฉพาะสาระสำคัญ ไม่เน้นรายละเอียด แต่เขียนตรงไปตรงมาไม่อ้อมค้อม




3) ใช้ภาษาให้เข้าใจง่าย หากต้องการจะกล่าวให้ชัดอาจใช้อุปมาโวหารและสาธกโวหารเข้าช่วยได้บ้าง แต่ต้องไม่มากจนส่วน ที่เป็นสาระสำคัญกลายเป็นส่วนด้อยไป




4) เรียบเรียงความคิดให้ต่อเนื่อง และสัมพันธ์กัน




ตัวอย่างบรรยายโวหาร




“ … ทุกครั้งที่พ่อไปเมืองนอก พ่อหาโอกาสไปดูสถานที่น่าสนใจและดูความเปลี่ยนแปลง ความก้าวหน้าของชาติต่างๆอยู่เสมอ และพ่อจะกลับมาเล่าให้ฟังอย่างมีระบบและละเอียดลออพร้องทั้งของฝากที่น่าสนใจ ครั้งหนึ่งพ่อซื้อตุ๊กตามาฝากจุ๊ เป็นตุ๊กตาประหลาด เพราะมันหลับตาและลืมตาได้ สวยจนเราแทบไม่น่าจับ แต่จี๊ดสนใจมาก จนอยากรื้อออกมาดูว่ามีกลไกอะไรที่ทำให้มันหลับตาได้… ”




จากเรื่อง “ พ่อเล่า ” ของ จารุณี สูตะบุตร




2. พรรณนาโวหาร มีจุดมุ่งหมายในการเขียนต่างจากบรรยายโวหาร คือมุ่งให้ความแจ่มแจ้ง ละเอียดลออ เพื่อให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์ซาบซึ้งเพลิดเพลินไปกับข้อความนั้นการเขียนพรรณาโวหารจึงยาวกว่าบรรยายโวหารมาก แต่มิใช่การเขียนอย่างเยิ่นเย้อ เพราะพรรณนา-โวหารต้องมุ่งให้ภาพ และอารมณ์ ดังนั้น จึงมักใช้การเล่นคำ เล่นเสียง ใช้ภาพพจน์ แม้เนื้อความที่เขียนจะน้อยแต่เต็มด้วยสำนวนโวหารที่ไพเราะ อ่านได้รสชาติเป็นโวหารที่ใช้ถ้อยคำอธิบายหรือบรรยายสิ่งที่พบเห็นอย่างละเอียด โดยใช้สำนวนโวหารที่ไพเราะสอดแทรกอารมณ์ความรู้สึกของผู้เขียน เพื่อให้ผู้อ่านเกิดความประทับใจและความซาบซึ้งมีความรู้สึกและเห็นภาพตามไปด้วยกับคำพรรณนาโวหาร วิธีการเขียนพรรณนาโวหาร ผู้เขียนต้องรู้จักใช้ถ้อยคำที่ประณีตให้ความรู้สึกโดยหยิบยกลักษณะสำคัญมากล่าว การใช้ถ้อยคำในการบรรยายลักษณะจะใช้ถ้อยคำที่แสดงรูปธรรม เช่น บอกลักษณะ สีสัน รูปร่าง เวลาเพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพชัดเจน หรือใช้ถ้อยคำทำให้เกิดความไพเราะ




หลักการเขียนพรรณนาโวหาร




1) ต้องใช้คำดี หมายถึง การเลือกสรรถ้อยคำ เพื่อให้สื่อความหมาย สื่อภาพ สื่ออารมณ์เหมาะสมกับเนื้อเรื่องที่ต้องการบรรยายควรเลือกคำ ที่ให้ความหมายชัดเจน ทั้งอาจต้องเลือกให้เสียงคำสัมผัสกันเพื่อเกิดเสียงเสนาะอย่างสัมผัสสระ สัมผัสอักษร ในงานร้อยกรอง




2) ต้องมีใจความดี แม้จะพรรณนายืดยาว แต่ใจความต้องมุ่งให้เกิดภาพ และอารมณ์ความรู้สึกสอดคล้องกับเนื้อหาที่กำลังพรรณนา




3) อาจต้องใช้อุปมาโวหาร คือ การเปรียบเทียบเพื่อให้ได้ภาพชัดเจน และมักใช้ศิลปะการใช้คำที่เรียกว่า ภาพพจน์ประเภทต่าง ๆ ทั้งนี้เป็นวิธีการที่จะทำให้พรรณนาโวหารเด่น ทั้งการใช้คำ และการใช้ภาพที่แจ่มแจ้ง อ่านแล้วเกิดจินตนาการและความรู้สึกคล้อยตาม




4) ในบางกรณีอาจต้องใช้สาธกโวหารประกอบด้วย คือ การยกตัวอย่างเพื่อให้เกิดความแจ่มแจ้ง โดยยกตัวอย่างสิ่งที่ละม้ายคล้ายคลึงกัน เพื่อให้เกิดภาพและอารมณ์เด่นชัดพรรณนาโวหารมักใช้กับการชมความงามอื่น ๆ เช่น ชมสถานที่ สรรเสริญบุคคล หรือใช้พรรณนาอารมณ์ ความรู้สึก เช่น รัก เกลียด โกธร แค้น เศร้าสลด เป็นต้น




ตัวอย่างการพรรณนาโวหาร




“ … จิวยืนอยู่ห่างจากเต่านั้นเล็กน้อย เขานุ่งกางเกงขาสั้นสีน้ำเงินเข้ม ท่อบนของร่างกายเปล่าเปลือยผิวขาวจัดของเขาถูกกระไอร้อนของน้ำมันที่เดือดพล่านอยู่ในกระทะรมเสียจนขึ้นเสียระเรื้อแดง และเหงื่อที่พรั่งผุดออกมาตามขุมขนสะท้านกับเปลวไฟที่แลบเลียอยู่ขอบกระทะแลเป็นเงาวับเขากำลังใช้ตะหลิวด้าวยาวคนกวนชั้นมันหมูที่กำลังถูกเคี่ยวลอยฟ่องอยู่มนกระทะอย่างขะมักเขม้น สองมือของเขากำอยู่ที่ด้าวตะหลิวท่อนแขนที่ค่อยๆกวนตะหลิวไปมานั้นเกร็งเล็กน้อย จนแลเห็นกล้ามเนื้อขึ้นเป็นลอนเมื่อมองผาดผ่านมายังลำตัวของเขาหล่อนก็ประจักษ์ถึงความล่ำสันแข็งแรงแผงอก แม้จะไม่กำยำผายกว้าง แต่ก็มีมัดกล้ามขึ้นเป็นลอนดูทรงพลังหน้าท้องราบเรียบบ่งบอกว่าทำงานออกกำลังอยู่เป็นนิจ เอวค่อนข้างคอดเป็นรูปสวยรับกับท่อนขาที่ยาวแบบคนสูงเมื่อเขายืนแยกขาออกห่างจากกันเพื่อได้รับน้ำหนักได้เหมาะสมด้วยเช่นนี้ แลดูเหมือนเสากลมเรียวสองต้นที่ประสานลำค้ำจุนร่างกายของเขาอย่างมั่นคง… ”




จาก “กตัญญูพิศวาส” ของ หยก บูรพา




ตัวอย่าง




“ ชั่วเหยี่ยวกระหยับปีกกลางเปลวแดด ร้อนที่แผดก็ผ่อนเพลาพระเวหา




พอใบไหวพลิกริกริกมา ก็รู้ว่าวันนี้มีลมวก




เพียงกระเพื่อมเลื่อมรับวับวับไหว ก็รู้ว่าน้ำใสใช่กระจก




เพียงแววตาคู่นั้นหวั่นสะทก ก็รู้ว่าในอกมีหัวใจ “




( เพียงความเคลื่อนไหว ของเนาวรัตน์ พงศ์ไพบูลย์ )




3.เทศนาโวหาร หมายถึง โวหารที่มีจุดหมายแสดงความแจ่มแจ้งเพื่อให้ผู้อ่านคล้อยตามหรืออาจกล่าวได้ว่ามุ่งชักจูงให้ผู้อ่าน คิดเห็นหรือคล้อยตามความคิดเห็นของผู้เขียนเทศนาโวหาร จึงยากกว่าโวหารที่กล่าวมาแล้วทั้ง 2 โวหาร เพราะต้องใช้กลวิธีในการชักจูงใจเป็นถ้อยคำโวหารที่ใช้อธิบายความคิดเหตุผลโดยต้องการให้ผู้อ่านเข้าใจและเห็นด้วย เกิดความเชื่อถือและปฏิบัติตาม วิธีการเขียน ผู้เขียนต้องเขียนอธิบาย หรือให้คำจำกัดความของสิ่งที่จะชี้แจงก่อน จากนั้นจึงกล่าวถึงเหตุผลที่จะเกิดตามมา อธิบายคุณและโทษพร้อมยกตัวอย่างประกอบหรือเปรียบเทียบให้ผู้อ่านเข้าใจดีขึ้น การยกตัวอย่างประกอบเรื่องรวในเทศนาโวหารนั้นเป็นสาธกโวหารประกอบเทศนาโวหารเสมอ




หลักการเขียนเทศนาโวหาร

การเขียนเทศนาโวหารต้องใช้โวหารประเภทต่าง ๆ มาประกอบ กล่าวคือทั้งใช้บรรยายโวหาร พรรณนาโวหาร รวมทั้งอุปมาโวหาร และ สาธกโวหารด้วย ทั้งนี้เพื่อให้ใจความชัดเจนแจ่มแจ้ง มีทั้งความหลักและความรองเป็นที่เข้าใจจนเกิดความรู้สึกนึกคิดคล้อยตามผู้เขียน ไปได้หากเป็นการแสดงความคิดเห็นควรอธิบายทั้งด้านที่เป็นประโยชน์และโทษ หรือแสดงเหตุและผลการเขียนเทศนาโวหาร ผู้เขียนต้อง มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องที่เขียนเป็นอย่างดี สามารถอธิบายอย่างชัดเจน ทั้งควรพรรณนาให้เกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ต้องรู้จักใช้เหตุผล และหลักฐานสนับสนุนความคิดเห็นที่ตนเสนอด้วย การลำดับความให้สัมพันธ์กันอย่างมีเหตุผลจึงเป็นหลักสำคัญอีกประการหนึ่ง ในการเขียนเทศนาโวหารโดยทั่วไปมักเข้าใจกันว่า เทศนาโวหาร แปลว่า โวหารที่มุ่งสั่งสอน โดยตีความคำว่าเทศนา ว่าสั่งสอน ความจริงเทศนาในที่นี้ หมายถึง แสดง กล่าวคือ แสดงอย่างแจ่มแจ้งเพื่อให้เห็นคล้อยตาม รูปแบบงานเขียนที่ควรใช้เทศนาโวหารคือ งานเขียนประเภทบทความชักจูงใจ หรือบทความแสดงความคิดเห็น ความเรียง เป็นต้น




ตัวอย่างเทศนาโวหาร




การอบรมสั่งสอนลูกเคร่งครัดมากมายเกินไป ก็อาจเป็นผลร้ายได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นวิธีเลี้ยงลูกที่ดีก็คือ เดินตามทางสายกลาง อย่าให้ตึงหรือหย่อนเกินไป ควรเปิดโอกาสให้เด็กหรือลูกได้ใช้ความคิด ได้ทดลอง ได้มีประสบการณ์ต่างๆได้รู้วิธีช่วยตัวเอง ได้ฝึกแก้ปัญหาของตัวเองให้มากส่วนที่จะควบคุมกันควรเป็นแต่เรื่องกรอบของกฎหมายและศีลธรรมเท่านั้นการสอนให้เขาได้ทำกิจกกรมที่เป็นประโยชน์ที่เขาพอใจให้มากย่อมีกว่าการตั้งแต่ข้อห้าม หรือการให้ทำตามคำสั่งแต่ฝ่ายเดียว




จากเรื่อง “ เหมือนๆ จะแพ้แต่ไม่แพ้ ”




ของธรรมจักร สร้อยพิกุล




ตัวอย่าง …โยคีสอนสุดสาครในเรื่องพระอภัยมณี




“ บัดเดี๋ยวดังหง่างเหง่งวังเวงแว่ว สะดุ้งแล้วเหลียวแลชะแง้หา




เห็นโยคีขี่รุ้งพุ่งออกมา ประคองพาขึ้นไปจนบนบรรพต




แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์ มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด




อันเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน ( สุนทรภู่ )




4. สาธกโวหาร คือ โวหารที่มุ่งให้ความชัดเจน โดยการยกตัวอย่างเพื่ออธิบายให้แจ่มแจ้งหรือสนับสนุนความคิดเห็นที่เสนอให้หนักแน่น น่าเชื่อถือ สาธกโวหารเป็นโวหารเสริม บรรยายโวหาร พรรณนาโวหาร และเทศนาโวหารเช่นการเลือกยกตัวอย่างมีหลักที่ควรเลือกให้เข้ากับเนื้อความ อาจยกตัวอย่างสั้น ๆ ในบรรยายโวหารหรืออาจยกตัวอย่างที่มีรายละเอียดประกอบในพรรณนาโวหาร และเทศนาโวหาร เป็นต้น ในการเขียนข้อเขียนต่าง ๆ นิสิตควรรู้จักเลือกใช้โวหารให้เหมาะกับจุดมุ่งหมายในการเขียนและเนื้อหาในบางโอกาส อาจต้องใช้โวหารหลายชนิดในงานเขียนชิ้นหนึ่งก็ได้ หลักสำคัญอยู่ที่ว่าต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับโอกาส จุดมุ่งหมายและเขียนได้อย่างถูกต้อง ตามลักษณะโวหารนั้น ๆเป็นการยกตัวอย่างประกอบเรื่องราว เพื่อให้ข้อความนั้นเด่นชัดขึ้น หรือข้อเปรียบเทียบประกอบอย่างมีเหตุผล


การเขียนสาธกโวหาร

๑. การเขียนสาธกโวหารจะเขียนควบคู่กับเทศนาโวหาร หรือบรรยายโวหาร โดยการยกตัวอย่างประกอบ




๒. ตัวอย่างที่ยกมาประกอบต้องสอดคล้องสัมพันธ์กับเนื้อความในเทศนาโวหารหรือบรรยายโวหาร




๓. ต้องยกตัวอย่างชัดเจนใช้ถ้อยคำง่าย และควรสรุปหลังจากยกตัวอย่างประกอบแล้ว ให้เห็นความสำพันธ์ของเทศนาโวหารกับสาธกโวหารหรือบรรยายโวหารกับสาธกโวหาร




ตัวอย่างสาธกโวหาร




ในเรื่องน้ำ เรามองว่าประเทศไทยมีน้ำเยอะแยะ เราไม่เคยคิดประหยัดว่าจะใช้น้ำคุ้มค่าที่สุดอย่างไร เช่น น้ำที่เหลือจากการซักล้าง เราก็ควรจะเอาไปรดน้ำต้นไม้ ความประหยัดเป็นจุดหนึ่งของการลดความต้องการที่เพิ่มขึ้น การที่เราจะต้องการพื้นที่การเกษตรปลูกผลิตผลการเกษตรให้มากขึ้น ถ้าเรารู้จักประหยัด เราก็จะไม่ต้องการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกมากขึ้น เรื่องอาหารก็จะลดลงไป อย่างเช่นการดื่มกาแฟในการประชุมหลายแห่ง แม้แต่การประชุมนานาชาติ ผมไม่รู้ว่ากาแฟเททิ้งกันเท่าไหร่ แล้วกาแฟมาจากไหน ก็มาจากป่าเขตร้อนป่าเขตร้อนที่โดนทำลายไปเพราะคนพื้นเมืองต้องการทำลายป่าเพื่อขยายพื้นที่ปลูกกาแฟ เพราะกาแฟราคาดี มันมีผลถึงกันหมด




สุรพล ดวงแข : นิตยาสาร “สาระคดี”




ฉบับที่ ๖๕ ปีที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๓๓







ตัวอย่าง เขาหลงรักเจ้าหญิงผู้สูงศักดิ์




ในเมืองเมืองหนึ่งซึ่งอยู่ไกลสุดโพ้นทะเลมีพระราชาพระองค์หนึ่งเป็นผู้ที่หวงแหนพระราชธิดามาก พระองค์มีธิดา




เพียงองค์เดียว ดังนั้นจึงเอาอกเอาใจบำรุงบำเรอให้ความสุขความสำราญเต็มที่ และเจ้าหญิงองค์นี้ก็มีพระสิริโฉมงดงามที่สุด




อยู่มาวันหนึ่งเจ้าหญิงได้ออกมาเดินเล่นในอุทยานดอกไม้เดินไปก็ร้องเพลงไปน้ำเสียงของเจ้าหญิงช่างอ่อนหวานและ




กังวาลยิ่งนัก ในขณะที่เดินชมสวนอยู่ก็ได้พบกับองครักษ์หนุ่มของพระราชาเข้าโดยบังเอิญทั้งสองตกหลุมรักกันในทันที แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าองครักษ์หนุ่มผู้นี้ต่ำต้อยด้วยยศฐาบรรดาศักดิ์เหลือเกินจึงได้แต่เก็บความรู้สึกไว้ในใจ เมื่อพระราชาทรงทราบข่าวก็กริ้วมาก จึงขับไล่องครักษ์ออกจากวัง เจ้าหญิงเสียพระทัยมาก




ต่อมาพระราชาจึงให้เจ้าหญิงอภิเษกกับเจ้าชายต่างเมืององครักษ์ผู้นี้จึงได้แอบติดตามข่าวของเจ้าหญิงอยู่เงียบๆ เขา




คิดว่าตนเองนี้ต่ำต้อยเสียเหลือเกิน ถึงปรารถนาเจ้าหญิงมาครองคู่แต่ก็เพียงแค่มองไม่าสมารถไขว่ขว้าไว้กับตนได้อุปมาดั่ง"กระต่ายหมายจันทร์"




ตัวอย่าง คนที่เขาฉลาดจริงๆ เขาไม่โอ้อวดหรอก อย่างที่เขาเรียกว่า”คมในฝัก”




ในการเปิดเรียนภาคแรก นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่1 เป็นนักเรียนใหม่ในโรงเรียนชื่อดังแห่งหนึ่ง ณ ห้อง ม.1/20 นักเรียนทุกคนเป็นนักเรียนเรียนดี ในห้องนี้มีนักเรียนคนหนึ่งชื่อ”จุ๊บแจง” ชอบพูดตาโอ้อวดว่าเป็นคนฉลาด สวย รวย มีความพร้อมทุกอย่างและชอบพูดจาดูถูกผู้อื่น คิดว่าตนเองนั้นเก่งอยู่คนเดียว ณ อีกมุมหนึ่งของห้องมีนักเรียนอีกคนหนึ่ง ชื่อ “หนุงหนิง” หนุงหนิงเป็นเด็กเรียบร้อยไม่ค่อยพูด แต่เวลาเพื่อนมาถามการบ้านก็สอนให้เสมอ วันหนึ่งจุ๊บแจงก็ได้พูดกับเพื่อนในห้องว่า”สอบครั้งนี้ฉันต้องได้ที่หนึ่งอย่างแน่นอน ไม่มีใครเรียนดีเท่าเราหรอก” เมื่อผลสอบปลายภาคออกมา ปรากฎว่าไม่เป็นดังที่จุ๊บแจงพูดไว้ แต่คนได้ที่หนึ่งกับเป็นหนุงหนิง เมื่อเพื่อนๆรู้ผลสอบก็ชื่นชมหนุงหนิงว่า”แหม หนุงหนิงเธอนี่คมในฝักจริงๆเลยนะ” จุ๊บแจงจึงเสียใจและเสียหน้ามาก และไม่มีใครสนใจจุ๊บแจงเลย




ตัวอย่าง คนอย่างเขาสองคนเรียกว่าไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่




มีผู้หญิง สองคนชื่อ หมี และ เหมียว เขาทำงานอยู่ที่บริษัทเดียวกัน วันหนึ่งแมวได้เห็นหมี นำเงินของบริษัทมาใช้ เมื่อหมีรู้เข้าจึงขอร้องให้แมวอย่านำเรื่องนี้ไปบอกเจ้านาย แมวจึงขอส่วนแบ่งจากเงินที่ได้มาเพื่อเป็นค่าปิดปาก จากนั้นแมวกับหมีก็ได้ร่วมมือกันโกงเงินของบริษัท เมื่อเจ้านายตรวจบัญชีดูจึงเรียกทั้งสองคนมาถาม แต่ไม่มีใครกล้าพูดอะไร ต่อมาไม่นานเมื่อเจ้านายรู้ความจริงว่าทั้งสองร่วมมือกันโกงเงินบริษัท จึงได้ไล่ทั้งสองคนออกจากบริษัท




ตัวอย่าง …โยคีเทศนาทหารทัพลังกาและเมืองผลึกในเรื่องพระอภัยมณี




“ คือรูปรสกลิ่นเสียงไม่เที่ยงแท้ ย่อมเฒ่าแก่เกิดโรคโศกสงสาร




ความตายหนึ่งพึงเห็นเป็นประธาน หวังนิพพานพ้นทุกข์สุขสบาย




ซึ่งบ้านเมืองเคืองเข็ญถึงเช่นนี้ เพราะโลกีย์ตัณหาพาฉิบหาย




อันศีลห้าว่าอย่าทำให้จำตาย จะตกอบายภูมิขุมนรก




5. อุปมาโวหาร หมายถึง โวหารเปรียบเทียบ โดยกตัวอย่าง สิ่งที่คล้ายคลึงกันมาเปรียบเพื่อให้เกิดความชัดเจนด้านความหมาย ด้านภาพ และเกิดอารมณ์ ความรู้สึกมากยิ่งขึ้น กล่าวได้ว่าอุปมาโวหาร คือ ภาพพจน์ประเภทอุปมานั่นเอง อุปมาโวหาร ใช้เป็นโวหารเสริม บรรยายโวหาร พรรณนาโวหาร และเทศนาโวหาร เพื่อให้ชัดเจนน่าอ่าน โดยอาจเปรียบเทียบอย่างสั้น ๆ หรือเปรียบเทียบอย่างละเอียดก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอุปมา โวหารนั้นจะนำไปเสริมโวหารประเภทใดเป็นโวหารสำนวนเปรียบเทียบ เพื่อใช้ประกอบข้อความในสาธกโวหาร บรรยายโวหาร พรรณนาโวหารได้เด่นชัดขึ้น ดังตัวอย่างในพรรณนาโวหารจากเรื่องกตัญญูพิศวาสที่กล่าวมาแล้วดังข้อความ “แลดูเหมือนเสากลมเรียวสองต้นที่ประสานลำค้ำจุนร่างกายของเขาอย่างมั่นคง”




วิธีการเขียนเปรียบเทียบ มีดังนี้




๑. เปรียบเทียบของสิ่งหนึ่งเหมือนสิ่งหนึ่ง จะมีคำว่า เหมือน ราวดุจว่า เช่น ดัง เป็นตัวเชื่อมข้อความ




- หญิงสาวสวยเหมือนบัวที่วางอยู่กลางบึง




- เขาเป็นคนดุร้ายราวกับเสือ




- เด็กๆ เป็นผู้บริสุทธิ์สะอาดประดุจผ้าขาวที่ไม่มีรอยเปื้อน




๒. เปรียบเทียบโดยโยงความคิดผู้อ่านไปสู่สิ่งหนึ่ง เช่น ชีวิตเหมือนนวนิยาย เรื่องตลกเหมือนเรื่องศรีธนญชัย เป็นต้น




ตัวอย่างอุปมาโวหาร




เขากาแฟในถ้วย โดยไม่หันมามอง น้ำสีดำหมุนติ้วเป็นวงลึกเหมือนวังน้ำวนในนิยายผจณภัยสยองขวัญ สักครู่มันก็แปรเป็นสีน้ำตาลอ่อนเพราะนมข้นหวานที่นอนก้นอยู่สองเซนติเมตรครึ่ง เขาหยกช้อนสีเหรียญบาทขึ้นละเลียดด้วยปลายลิ้น ขณะที่สบตาจับจ้องอยู่ที่พาดหัวข่าวประจำวัน




ตัวอย่าง “ ปางพี่มาดสมานสุมาลย์สมร




ดังหมายดวงหมายเดือนดารากร




อันลอยพื้นอำพรพโยมพราย “




( เพลงยาว โดยเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ )




ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล : http://savrakthai.igetweb.com/index.php?mo=3&art=283231

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น